
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว การพระราชพิธี
บรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๕ นี้ ได้ทรงอนุโลม ตามแบบอย่างพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงตั้งไว้และที่ได้ทรงประกอบการมาแม้แต่การพระราชพิธี เฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ทรงพระราชดำริว่า การสวดภาณวารเดิมสวดไม่ครบ ๓ วันบริบูรณ์ เพราะจุดเทียนชัยและตั้งต้น สวดภาณวารในวันที่ ๒

บทนำ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๕ นี้ ได้ทรงอนุโลมตามแบบอย่างพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงตั้งไว้และที่ได้ทรงประกอบการมาแม้แต่การพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ทรงพระราชดำริว่า การสวดภาณวารเดิมสวดไม่ครบ ๓ วันบริบูรณ์ เพราะจุดเทียนชัยและตั้งต้นสวดภาณวารในวันที่ ๒ ดังนั้น เมื่อคราวเฉลิมพระอภิเนาวนิเวศที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างใหม่ พ.ศ. ๒๔๐๒ โปรดให้ทำการพระราชพิธีคล้ายกับพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงทรงแก้ไขให้เพิ่มพิธีตั้งน้ำวงด้ายมีสวดมนต์เลี้ยงพระก่อนวันงาน อีก ๑ วัน เพื่อให้ได้จุดเทียนชัยและเริ่มสวดภาณวาร ในเวลาเช้าวันที่ ๑ แห่งการพระราชพิธี พิธีตั้งน้ำวงด้ายในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
อนึ่ง แม้แต่การนำพระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบุรพการีเสด็จออก
ประดิษฐาน ณ พระมหาปราสาท (ที่ตั้งพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนารถ) เพื่อถวายบังคมขอพระราชทานพระเมื่อทรงราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงอนุโลมตามแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งไว้
พระที่นั่งอัฐทิศซึ่งเดิมทำด้วยไม้มะเดื่อเป็นของชั่วคราวในครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงใช้พระที่นั่งอัฐทิศที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างจำหลักปิดทองเป็นอย่างถาวร ซึ่งตั้งประจำในพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เดิมในพระบรมมหาราชวังนั้นเป็นครั้งแรก ใช้คู่กับพระที่นั่งภัทรบิฐถมซึ่งทำเป็นรูปพระเก้าอี้ที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชสร้างถวายมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ แต่เดิมเจ้าพระยานครสร้างสำหรับให้ประทับรับแขกเมือง แต่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้บูรณะเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐใช้คู่กับพระที่นั่งอัฐทิศ

เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๑ มีเครื่องตั้งพระแท่นมณฑลเพิ่มกว่าครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลก่อนๆ หลายสิ่ง

การเตรียมสถานที่:
เครื่องตั้งพระแท่นมณฑล
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๑ มีเครื่องตั้งพระแท่นมณฑลเพิ่มกว่าครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลก่อนๆ หลายสิ่ง ดังรายการต่อไปนี้ โดยเทียบกับรายการเครื่องตั้งพระแท่นมณฑลในครั้งรัชกาลที่ ๔ คือ
- พระแก้วเชียงแสน ซึ่งได้มาครั้งรัชกาลที่ ๔
- พระชัยประจำรัชกาลที่ ๔
- พระนิรันตราย ซึ่งสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔
- พระราชลัญจกร แต่เดิมตั้งพระอุณาโลมทำแท่ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ตั้งพระราชลัญจกรแทน
- พระเต้าเบญจครรภรอง สร้างครั้งรัชกาลที่ ๔
- พระเต้าเบญจครรภห้าห้อง สร้างครั้งรัชกาลที่ ๔
- พระเต้าห้ากษัตริย์ สร้างครั้งรัชกาลที่ ๔
- พระเต้าบัวหยกเขียว
- พระเต้าบัวแดง
- พระเต้าจารึกอักษร
- พระเต้าศิลายอดเกี้ยว
- พระแส้หางช้างเผือก
- ฉลองพระองค์เกราะเหล็ก
- ฉลองพระองค์เกราะนวม๑
- เครื่องทรงลงยันต์ราชะ ๗ สี๒
- พระแสงศร ๓ เล่ม๓ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔
- ทรงตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ ๑ คู่ เทียนพระมหามงคล ๑ คู่
- ตั้งปืนทองรางเกวียนขนาดย่อม ๔ กระบอก ที่หล่อขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือ ปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร และมหาปราบ ปืนทั้ง ๔ กระบอกนี้ใช้สำหรับยิงเป็นฤกษ์ในการพระราชพิธีบางอย่าง
- แขวนยันต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และแขวนยันต์พระอรหันต์ประจำทิศทั้ง ๘ ยันต์ด้วย
๑ ฉลองพระองค์เกราะนี้ เดิมเขียนเพียงฉลองพระองค์เกราะนวม แต่ครั้งนี้แยกเป็นฉลองพระองค์เกราะเหล็ก กับฉลองพระองค์เกราะนวม
๒ เดิมมิได้เขียนว่าลงยันต์ราชะ แต่บอกว่าพระภูษา ๗ สี เท่านั้น
๓ ทุกองค์มีชื่อเฉพาะ คือ พระแสงสรพรหมาต พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรกำลังราม

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีขั้นตอนเช่นเดียวกับ
รัชกาลก่อนๆ อันเป็นการประกอบพระราชพิธี
ตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ซึ่งเริ่ม
ตั้งแต่พระโหราธิบดี (ชุ่ม) หลวงโลกทีป
(เถื่อน) ขุนโชติพรหมมา ขุนเทพพยากรณ์
โหรคำนวณพระฤกษ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ทูลเกล้าฯ ถวาย

การประกอบพระราชพิธี
การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีขั้นตอนเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ อันเป็นการประกอบพระราชพิธีตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ซึ่งเริ่มตั้งแต่พระโหราธิบดี (ชุ่ม) หลวงโลกทีป (เถื่อน) ขุนโชติพรหมมา ขุนเทพพยากรณ์ โหรคำนวณพระฤกษ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทูลเกล้าฯ ถวาย
ขุนโชติพรหมมาจารึกดวงพระชันษา นายราชสารจารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏทองคำเนื้อแปดเศษสอง๑ แผ่นทองจารึกดวงพระชันษากว้าง ๑๐ นิ้ว ยาว ๑๐ นิ้ว หนัก ๒ ตำลึง แผ่นพระสุพรรณบัฏกว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว หนัก ๒ ตำลึง พระมหาราชครู จุณเจิม พันด้วยไหมเบญจพรรณ บรรจุไว้ในพระกล่องทองคำจำหลักลายกุดั่น แล้วเชิญลงไว้ในหีบถมยาดำตะทอง มีถุงเข้มขาบนอก ตรีตราประจำเล็บ เชิญขึ้นไว้บนพานทองสองชั้นสำรับใหญ่ แล้วประกอบพิธีสมโภชเวียนเทียนแล้วเชิญประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม๒
๑ พระปรมาภิไธยที่ปรากฏในแผ่นพระสุพรรณบัฏ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศวรุตมพงศบริพัตร วรขัดติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูรสุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางศ์มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิสมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูรมูลมุขราชดิลก มหาปริวาร นายกอนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดฎเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกภิลิตสรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินท ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว”
๒ ดูรายละเอียดใน พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕, อ้างแล้ว, หน้า ๑๔๖

บุษยรัตน์เป็นประธานดังครั้งรัชกาลที่ ๔๑ พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐ แขวนยันต์ทอดอาสนะสำหรับพระสงฆ์สวดมนต์

การจัดพระราชมณเฑียร
- บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณตั้งพระแท่นมณฑล มีพระพุทธบุษยรัตน์เป็นประธานดังครั้งรัชกาลที่ ๔๑ พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐ แขวนยันต์ ทอดอาสนะสำหรับพระสงฆ์สวดมนต์
- ปลูกพระมณฑปพระกระยาสนานที่ชาลาระหว่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ กับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทางตะวันออก
- ในพระมณฑปตั้งถาดทองรองตั่งไม้มะเดื่อ สำหรับประทับสรงพระกระยาสนานโดยรอบปักเครื่องสูง หุ้มผ้าขาวเครื่องทอง และตั้งราชวัติ ฉัตรทอง ฉัตรนาก ฉัตรเงิน
- ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จัดที่พระสงฆ์สวดภาณวารตั้งตู้เทียนชัย และเตียงพระสวด และตั้งเครื่องสูงโดยรอบ ในตอนเช้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย เฝ้าพร้อมกัน ส่วนด้านหน้าตั้งแถวพวกชาวประโคม สังข์ แตร กลองชนะ และมโหระทึก หน้าทิมดาบตำรวจตั้งแถวพวกทหารอย่างยุโรปเป็นกองเกียรติยศ
- ท้องพระโรงบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ จัดที่พระสงฆ์ไทยกับมอญ พระราชาคณะ ๒ รูป พระครูปริตร ๘ รูป สวดทำหน้าพระพุทธมนต์
- พิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร จัดบนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน๒
- ภายนอกพระราชมณเฑียรสถานปลูกโรงพิธีพราหมณ์และตั้งพนมบัตรพลีที่โหรบูชาเทวดาหน้าพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
- ตั้งราชวัติ ปักฉัตรเบญจรงค์รายรอบ และรายทางออกไปจนถึงประตูวิเศษชัยศรี แล้วโยงสายสิญจน์ตลอดไปจนถึงองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
- เกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ด้านเหนือ ตั้งพระราเชนทรยานด้านตะวันตกผูกช้างต้น เจ้าพระยาปราบไตรจักร
- นอกประตูพิมารไชยศรี มีทหารอาสาสิบหมู่แต่งเครื่องเสนากุฎ ถืออาวุธต่างๆ ยืนกลบาทสองข้างถนน ในสนามปลูกปะรำยืนช้างต้นม้าต้น
- ท่าราชวรดิฐแต่งเรือพระที่นั่งกิ่งศรีสมรรถชัย และเรือพระที่นั่งไกรสรมุขมีพลพายประจำ
๑แต่เดิมเคยเชิญพระแก้วมรกตเป็นประธานบนพระแท่นมณฑล แต่มาในสมัยรัชกาลที่ ๔ อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตน์แทน ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่าพระแก้วมรกตเป็นของหนักเชิญไปมาเป็นการเสี่ยงภัย จึงได้แต่โยงสายสิญจน์จากพระแท่นมณฑลไปยังองค์พระแก้วมรกต
๒ ดูรายละเอียดในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕, อ้างแล้ว, หน้า ๑๔๘


วันเตรียมพระราชพิธี
วันเริ่มพระราชพิธีตรงกับวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ หรือวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ ในวันเริ่มพิธีพราหมณ์เข้าพิธีพระสงฆ์สวดมนต์ตั้งน้ำวงด้าย พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วเสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทรงศีล แล้วพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ ๓๐ รูป๑ เจริญพระพุทธมนต์ ระหว่างนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่พระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐ๒
ในวันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเขียนทองสีขาวฉลองพระองค์เยียรบับขวา คาดสายรัดพระองค์เพชร ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ทรงผ้าเขียนทอง ฉลองพระองค์เยียรบับ คาดสมรสข้าราชการที่มีตำแหน่งเฝ้าข้างใน แต่งตัวนุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อเยียรบับเข้มขาบและอัตลัดตามบรรดาศักดิ์ คาดเสื้อครุย
วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ เวลาเช้าพระราชาคณะและพระเถรานุเถระ ๘๕ รูป มีกรมหมื่นบรมรังษีสุริยพันธ์เป็นประธานพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงศีล เมื่อได้พระฤกษ์ทรงถวายเทียนชนวนแก่กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ทรงจุดเทียนชัย พระสงฆ์สวดคาถาสำหรับการจุดเทียนชัย เจ้าพนักงานประโคมดนตรี และยิงปืน ฤกษ์ยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยที่ห้องพระมหามณเฑียรและที่พระบรรทม และยกพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น ที่พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐแล้วทรงพระราชอุทิศ เครื่องพลีกรรม บวงสรวงเทวดา ณ เทวสถานต่างๆ ๑๕ แห่ง๒ โดยให้โหรเชิญไป ๖ แห่ง คือ บวงสรวงที่พระนเรศวร ณ หอพระแสงในเทวดารักษาพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเทพารักษ์ ณ หอแก้วในพระบรมมหาราชวัง เทพารักษ์หลักเมือง เทพารักษ์ที่ตึกดิน และกรมเมืองเชิญไป ๔ แห่ง คือ ที่พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬชัยศรี และเจ้าเจตคุก พระมหาราชครูเชิญไป ๓ แห่ง คือ บวงสรวงพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ ที่เทวสถาน และกรมช้าง เชิญไปบรวงสรวงเทพารักษ์ที่หอเชือก กรมช้าง
เมื่อจุดเทียนชัยและยกพระเศวตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง
ประเคนผ้าไตรและย่ามแก่พระสงฆ์ ๘๕ รูป แล้วถวายภัตตาหารทั้งที่พระที่นั่ง
อมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชาพระธรรมที่เตียงสวด พระราชาคณะสวดภาณวารที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด ๓ วัน
ตอนบ่ายมีพระสงฆ์สวดที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ๕๐ รูป และที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณมีพระสงฆ์ราชาคณะสวด ๓๐ รูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนบูชาพระทั้งที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและที่พระแท่นมณฑล ทรงสมาทานศีลแล้วทรงจุดธุปเทียนบูชาเทวดา พระราชาคณะขัดตำนานประกาศเทวดา เสร็จแล้วพระมหาราชครูพราหมณ์ถวายน้ำสังข์ ถวายใบมะตูมทรงทัดแล้วถวายใบสมิทธเพื่อทรงปัดพระเคราะห์๔ ทรงรับมากวาดพระองค์แล้วส่งพระมหาราชครูเอาไปบูชาชุบโหมเพลิงป้องกันอันตรายทั้งปวงตามพิธีพราหมณ์๕ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงฟังสวดพระปริตรในที่พระบรรทม พระสงฆ์เจริญสตปริตรทั้ง ๓ แห่ง เป็นเช่นนี้รวม ๓ วัน แล้วจึงถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันพุธเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑
๑กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์เป็นประธาน
๒ เดิมไม่มีรายละเอียดดังกล่าวนี้
๓ การต่างๆ นี้อาจจะได้ปฏิบัติมาแต่เดิมแล้ว แต่ไม่มีปรากฏในรายละเอียดครั้งรัชกาลก่อนๆ
๔ ใบสมิทธ คือ ใบมะม่วง ๒๕ ใบ เป็นเครื่องหมายปัดภยันตราย ใบทอง ๓๒ ใบ เป็นเครื่องหมายปัดอุปัทวันตราย ใบตะขบ ๙๖ ใบ เป็นเครื่องหมายปัดโรคันตราย
๕ แต่เดิมมาจะประกอบการนี้ในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก เมื่อสรงน้ำมูรธาภิเษกแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๕ นี้ ประกอบพระราชพิธีถวายใบสมิทธในวันเตรียมการทั้ง ๓ วันด้วย จัดเป็นพิธีการที่เพิ่มขึ้นจากเดิม

บรมราชาภิเษก เช้าเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยประทับพระแท่นเศวตฉัตร พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และกงสุลต่างประเทศเข้าเฝ้าพร้อมกัน เสนาบดีกล่าวถวายเครื่องประดับพระบรมราชอิสริยยศและราชสมบัติทั้งปวง

พระราชพิธีในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก
เช้าเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยประทับพระแท่นเศวตฉัตร พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และกงสุลต่างประเทศเข้าเฝ้าพร้อมกัน เสนาบดีกล่าวถวายเครื่องประดับพระบรมราชอิสริยยศและราชสมบัติทั้งปวง
ตอนบ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดเทียนนมัสการเมื่อได้พระฤกษ์ พระโหราธิบดี พระมหาราชครูทูลอัญเชิญเสด็จสู่ที่สรง เจ้าพนักงานชาวภูษามาลา ถวายพระภูษาถอด พระเมธาธิบดีเชิญพระชัย หลวงราชมุนี หลวงศิวาจารย์เป่าสังข์ทักขิณาวัฏนำเสด็จไปมณฑปพระกระยาสนาน ผันพระพักตร์สู่ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ)
พระราชโกษาถวายเครื่องพระกระยาสนาน หลวงราชวงศาไขสหัสธารา ชาวประโคมสังข์แตร กรมกองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พระราชาคณะและพระบรมวงศานุวงศ์ถวายน้ำมนต์และน้ำพระเต้าต่างๆ อาทิ น้ำมนต์ครอบพระกริ่ง พระเต้าปทุมนิมิตรทอง พระเต้าปทุมนิมิตรนาก พระเต้าปทุมนิมิตรเงิน พระเต้าปทุมนิมิตรสำริด
พระมหาราชครูถวายพระเต้าเบญจครรภ พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ พราหมณ์ถวายพระมหาสังข์ต่างๆ เช่น พระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์นาก พระมหาสังข์งา จากนั้นพราหมณ์เป่าสังข์ทักขิณาวัฏ อุตราวัฏ และไกวบัณเฑาะว์
สรงเสร็จแล้วเสด็จมาประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ราชบัณฑิต และพราหมณ์ถวายน้ำพระพุทธมนต์ น้ำกลศ น้ำสังข์ ตามทิศต่างๆ แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งภัทรบิฐประทับนั่งเหนือแผ่นทองเขียนรูปราชสีห์ ผันพระพักตร์สู่บูรพาทิศ พระมหาราชครูร่ายเวทสรรเสริญไกลาสแล้วถวายพระสังวาลพราหมณ์ ๓ เส้น พระสุพรรณบัฏ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์๑ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องราชูปโภค แล้วพระมหาราชครูกล่าวถวายราชสมบัติ หลวงอัฏยาถวายพระเศวตฉัตรตามราชประเพณี๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน พระราชทานพวกพราหมณ์ ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก พราหมณ์เป่าสังข์ไกวบัณเฑาะว์ พระสงฆ์ทำพิธีดับเทียนชัยที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ตะวันตก เมื่อทรงสรงเสร็จถวายภัตตาหาร เสร็จพระราชพิธีแล้ว เสด็จไปถวายไทยธรรมพระสงฆ์ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ถวายอดิเรก๓ พระสงฆ์ราชาคณะสวดสรรพมงคลถวายพระพรลา
จากนั้นพระราชครูพิธีกับพระหมอเฒ่า ประพรมน้ำกลศน้ำสังข์บนพระมหามณเฑียรโดยรอบทั้งภายในและภายนอก๔ และถวายพระพร
๑ พระแสงขรรค์ทรงรับแล้ววางเบื้องขวา ธารพระกรทรงวางเบื้องซ้าย นอกจากนี้ทรงรับแล้วส่งพระราชทานพระราชโกษารับต่อพระหัตถ์ ส่งให้เจ้าพนักงาน แต่ฉลองพระบาท พระมหาราชครูรับมาสอดทรงถวายแล้วร่ายเวทถวายพระพรชัย
๒ พระมหาราชครู (พุ่ม) ต้นตระกูล คุรุกุล ส่วนหลวงอัฏยา (อ้น) ต่อมาได้เป็นที่พระสิทธิชัยบดี
๓ เดิมถวายอดิเรกตั้งแต่วันแรกตั้งพิธี มาเปลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ จะถวายอดิเรกเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว
๔ ในรัชกาลก่อนๆ มิได้มีรายละเอียดในการนี้


การเสด็จออกมหาสมาคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จออกรับราชสมบัติ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน มีการจัดสถานที่โดย
- ด้านหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตั้งแถวชาวประโคมสังข์ แตร กลองชนะ และมโหระทึก
- หน้าทิมดาบตำรวจ ตั้งแถวพวกทหารอย่างยุโรปเป็นกองเกียรติยศ
- ตรงเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ด้านเหนือตั้งพระราเชนทรยาน
- ด้านตะวันตก ผูกช้างพระที่นั่งต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรราชพาหนะ
- นอกประตูพิมานไชยศรี พวกทหารอาสาสิบหมู่แต่งเครื่องเสนากุฎ ถืออาวุธต่างๆ ยืนกลบาทสองข้างถนน
- ในสนามปลูกปะรำยืนช้างต้นม้าต้น
- ท่าราชวรดิฐ แต่งเรือพระที่นั่งกิ่งศรีสมรรถชัย๑ กับเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพร้อมพลพาย
เมื่อได้พระฤกษ์เวลา ๑๑.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงกุฎ๒ และพระแสงขรรค์ชัยศรี เสด็จออกประทับพระแท่นเศวตฉัตร พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งปวงถวายบังคมในเวลาเดียวกัน ชาวประโคมๆ สังข์ แตร กลองชนะ กลองมโหระทึก กองแก้วจินดายิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทหารบกยิงปืนใหญ่สลุดในท้องสนามหลวง ทหารเรือยิงปืนใหญ่ในเรือรบยงยศอโยธยา และเรือสยามูปสดัมภ์ เรือรบของอังกฤษชื่อ อะวอง ยิงปืนใหญ่สลุตด้วยแห่งละ ๒๑ นัด
เมื่อสุดเสียงประโคม พระมหาราชครูพิธีร่ายเวทถวายพระพร พราหมณ์เป่าสังข์ พระศรีสุนทรโวหาร พระอาลักษณ์กราบบังคมทูลเบิกข้าราชการเพื่อกราบบังคมทูลถวายเครื่องบรมราชอิสริยยศและราชสมบัติ ตามราชประเพณีดังรัชกาลก่อน คือ
- เจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก ขอพระราชทานถวายพระยาช้างต้น พระยาม้าต้น กับเมืองเอก โท ตรี จัตวา และไพร่ฝ่ายพลเรือน
- พระยาเทพประชุมราช ปลัดทูลฉลองพระกลาโหมของพระราชทานถวายพระมหาพิชัยราชรถ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือกระบวนใหญ่น้อยและเครื่องสรรพยุทธทั้งปวง กับเมืองเอก โท ตรี จัตวา และไพร่ฝ่ายทหาร
- พระยาพิพัฒนโกษาราช ปลัดทูลฉลองกรมท่าสิบสองพระคลัง ขอพระราชทานถวายเครื่องพระพัทธยากรราชสมบัติทั้ง ๑๒ พระคลัง
- พระยามหาอำมาตย์ ขอพระราชทานถวายพระที่นั่งมณเฑียรปราสาท
ราชนิเวศน์มหาสถาน พระราเชนทรยาน และเครื่องสูงเฉลิมพระเกียรติยศ - เจ้าพระยายมราช ขอพระราชทานถวายกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาสถาน
- พระยาประชาชีพ ขอพระราชทานถวายธัญญาหารทั่วพระราชอาณาเขต
ในการขอพระราชทานถวายเครื่องประกอบบรมราชอิสริยยศและราชสมบัติ ได้กล่าวพระนามในรัชกาลที่ ๕ ว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งเมื่อเสนาบดีกล่าวถวายเครื่องประกอบบรมราชอิสริยยศและราชสมบัติแล้วได้ทรงมีพระบรมราชโองการว่า “สิ่งของทั้งนี้จงจัดแจงทำนุบำรุงไว้ให้ดี จะได้ป้องกันรักษาแผ่นดินและจะได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาสืบไป”
เมื่อข้าราชการฝ่ายไทยกราบบังคมทูลเสร็จ กงสุลเยณราล โปรตุเกส ซินยอวิเอนา ซึ่งเป็นหัวหน้านำชาวต่างประเทศกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลแทนรัฐบาลต่างประเทศที่มีพระราชไมตรีและทรงมีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จลงจากพระแท่นเศวตฉัตรประทับในพระฉาก ทรงเปลื้องพระมหาพิชัยมงกุฎเปลี่ยนเป็นทรงพระมหาชฎา แล้วเสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ
ท้าววรจันทร์ (มาลัย) ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระสนม ๑๒ พระกำนัล และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในถวายธูปเทียน แล้วเสด็จลงมุขกระสันหอพระสุราลัยพิมานรอพระฤกษ์เฉลิมมหามณเฑียร
๑ น่าจะเป็นลำเดียวกับเรือพระที่นั่งกิ่งศรีประภัศรชัยในครั้งรัชกาลที่ ๔
๒ ช่วงเช้าทรงเครื่องเยียรบับฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงกุฎและพระแสงขรรค์ ทรงพระภูษาขาวเขียนทองฉลองพระองค์ครุยกรองทองรัดพระองค์ประดับเพชรเหมือนอย่างวันทรงฟังสวด


เฉลิมพระราชมณเฑียร
การพระราชพิธีเฉลิมพระมหามณเฑียร๑ ตามราชประเพณีก็มีการพิธีเช่นเดียวกับครั้งรัชกาลที่ ๔ คือ เสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงโปรยดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน ตลอดทาง ที่เชิงบันไดพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีนางชำระพระบาท ๒ คน มีนางเชิญเครื่องราชูปโภคและมีนางเชื้อพระวงศ์เชิญเครื่องมงคลตามเสด็จ ซึ่งล้วนเป็นหม่อมเจ้าในรัชกาลที่ ๓ คือ
- หม่อมเจ้าปิ๋ว ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ซึ่งต่อมาทรงมีพระเกียรติยศเป็นพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคยนารีรัตน์
- หม่อมเจ้าสารภี ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี
- หม่อมเจ้ามณฑา ในกรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล
- หม่อมเจ้าภคินี ในกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ (กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ)
- หม่อมเจ้าวิลัยวร ในพระองค์เจ้าเปียก
- หม่อมเจ้าประยง ในพระองค์เจ้าลำยอง
เครื่องมงคลที่เชิญ ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พานผลฟักเขียว พานข้าวเปลือก พานถั่วและพานงา
เมื่อเสด็จถึงในพระที่นั่งทรงเปลื้องฉลองพระองค์ครุย จุดเทียนนมัสการแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นบรรทม ทรงรับดอกหมากทองคำ หนัก ๕ ตำลึงจากพระองค์เจ้าปุก ทรงรับพระแส้หางช้างเผือกจากพระองค์เจ้ายี่สุ่น และทรงรับกุญแจทองจากท้าวทรงกันดาล (ศรี) โดยทรงรับวางไว้
ตอนบ่ายมีการเวียนเทียนสมโภชพระมหามณเฑียร เจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน และบายศรีตอง
วันต่อมาเสด็จออกทรงสดับพระธรรมเทศนาพิเศษเนื่องด้วยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ กัณฑ์ รวม ๔ วัน
๑ดูรายละเอียดในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ อ้างแล้ว หน้า ๑๗๓-๑๗๖

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ในวันพุธเดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นี้
โปรดเกล้าฯ ให้มีแต่การเสด็จเลียบพระนครเฉพาะทางบก
โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ไม่มีการเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคดังรัชกาลที่ ๔ แต่เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงมีการเสด็จเลียบพระนครทั้งสองทาง

การเสด็จเลียบพระนคร
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในวันพุธเดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นี้
โปรดเกล้าฯ ให้มีแต่การเสด็จเลียบพระนครเฉพาะทางบก โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ไม่มีการเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคดังรัชกาลที่ ๔
แต่เมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒
พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงมีการเสด็จเลียบพระนครทั้งสองทาง
กระบวนแห่เสด็จเลียบพระนครทางบกที่จัดก็เป็นทำนองเดียวกับทุกรัชกาลที่ได้มีมาคือ จัดกระบวนเป็นตอนๆ ๔ ตอน
- ตอนที่ ๑ เป็นพวกเสนากรมต่างๆ เดินนำหน้าแบ่งเป็น ๘ สาย
- ตอนที่ ๒ เป็นกระบวนหลวง
- ตอนที่ ๓ เป็นเสนากรมต่างๆ กระบวนหลังแบ่งเป็น ๘ สาย
- ตอนที่ ๔ เป็นกระบวนเจ้านายทรงม้า และเสนาบดีนั่งเสลี่ยงหรือแคร่ตามบรรดาศักดิ์
ก่อนการเสด็จเลียบพระนคร พ.ศ. ๒๔๑๑ เนื่องจากถนนรอบพระบรมมหาราชวังยังปูด้วยอิฐมีรูแผ่นใหญ่ๆ พื้นยังขรุขระจึงมีการแต่งถนนด้วยการโรยทรายและสองข้างทางปักฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น กั้นราชวัติผูกต้นกล้วย ต้นอ้อยและธงกระดาษเป็นระยะๆ มีปี่พาทย์ กลองแขก เครื่องประโคม และตั้งร้านน้ำดื่มไว้ทุกระยะ บริเวณหัวถนนมีพวกทหารกรมอาสาหกเหล่า ตั้งกระโจมจุกช่องทุกแห่ง ราษฎรที่มีบ้านเรือนริมทางที่เสด็จผ่านสามารถตั้งเครื่องสักการะบูชาได้
ในวันเสด็จเลียบพระนครนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เสด็จขึ้นประทับพระราชยานพุดตานทองเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา เมื่อได้พระฤกษ์มีการยิงปืนใหญ่เป็นสัญญาณ กระบวนพยุหยาตราเคลื่อนออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษชัยศรี เลี้ยวซ้ายไปทางถนนหน้าพระลาน ผ่านถนนสนามชัย หยุดกระบวนประทับที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระราชทานดอกพิกุลทองและเงินแก่บรรดากงสุลพ่อค้าชาวต่างประเทศ และแม่ทัพเรืออังกฤษ คือ นายพลเรือเกบเปล และนายทหารเรือที่มาเฝ้ารับเสด็จ
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนมัสการพระที่ในพระอุโบสถ เสด็จแล้วเคลื่อนกระบวนแห่ไปทางถนนท้ายวังเลี้ยวเข้าประตูสุนทรพิศาลทิศา สกัดใต้มาทางท้ายสนมออกประตูพิทักษบวร สกัดเหนือเลี้ยวถนนพระลานมากลับเข้าประตูวิเศษชัยศรี เสด็จกลับขึ้นเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์เป็นอันเสร็จการเสด็จเลียบพระนคร ซึ่งระหว่างที่กระบวนเสด็จไปนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยเงินพระราชทานราษฎรไปตลอดทาง

กระบวนทหารม้า
๑. เสนากองหน้านำขบวน คือขุนโจมพลล้าน และขุนสท้านพลแสน สวมสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยวใส่เสื้อแพร โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ขัดดาบขี่ม้าถือธงห้าชายหักทองขวาง

การแต่งกายของเหล่าทหารในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
กรมที่ ๑
กระบวนทหารม้า
- เสนากองหน้านำขบวน คือขุนโจมพลล้าน และขุนสท้านพลแสน สวมสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยว ใส่เสื้อแพร โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ขัดดาบ ขี่ม้าถือธงห้าชายหักทองขวาง
- ทหารม้าเกราะทอง แต่งเครื่องเกราะทองอย่างฝรั่ง ถือขวาน
- กรมม้า แต่งอย่างฮ่อ ถือเกาทัณฑ์
กรมที่ ๒
กระบวนฝรั่งแม่นปืน แต่งตัวอย่างฝรั่ง ลากปืนจ่ารง ๔ กระบอก
กรมที่ ๓
กรมม้า
- ทหารขี่ม้าถือธงฉานและธงยันต์ ๑ แถวนำ
- พระยาสีหราชเดโชชัย แต่งตัวสวมสนับเพลานุ่งยก ใส่เสื้อโหมด โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง ขัดดาบนั่งแคร่คนหามนำกระบวน
- พระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลองมหาดไทย กับพระยาศรีสรราชภักดี ว่าที่ปลัดทูลฉลองกลาโหมสวมสนับเพลา นุ่งยก ใส่เสื้อ โพกผ้าทับทิมขลิบทอง ขัดดาบ ขี่ม้า นำริ้วคู่กันเป็นประตูหน้า
- กระบวนเสนาเดิน ๘ สาย สายนอกข้างละ ๒ สาย กรมเดียวกัน สายในเดินกลาง ๔ สาย กรมเดียวกัน นายกระบวนแต่งเครื่องทรงประพาส ขัดดาบ ขุนหมื่นและไพร่นุ่งกางเกงใส่เสื้อเสนากุฎ หมวกหนัง
กรมที่ ๔
สายนอก
- ธงทหาร
- ปี่พาทย์ ๔ นำกระบวนทหารอย่างยุโรป ซึ่งถือปืนคาบศิลา
กระบวนกรมอาสาจาม ถือหอกคู่
กรมที่ ๕
สายนอกทหารเกณฑ์หัดถือปืนรางแดง
สายในคนถือธงยันต์ ๔ คน นำกระบวนกรมล้อมวังถือดาบโล่
กรมที่ ๖
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในคนถือธงยันต์ ๔ คน นำกระบวนอาสาใหญ่ถือดาบเชลย
กรมที่ ๗
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในกระบวนมอญกรมดั้งทอง ถือดาบดั้ง
กรมที่ ๘
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในกระบวนมอญกรมอาทมาท ถือดาบ
กรมที่ ๙
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในกระบวนกรมเขนทอง ถือเขนแบกดาบ
กรมที่ ๑๐
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในกระบวนกรมทำลุ ถือธนูหางไก่
กรมที่ ๑๑
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในกระบวนกรมอาสาญี่ปุ่น ถือขวานจีนด้ามยาว
กรมที่ ๑๒
สายนอกกรมทหารรักษาพระองค์ ถือปืนปลายหอก
สายในกระบวนกรมท่า ถือเสโล
กระบวนหลวง
กรมที่ ๑๓
ตำรวจถือธงฉาน ๘ คน ๑ แถว
กรมที่ ๑๔
สายนอกตำรวจ ขัดดาบ นุ่งผ้าพื้น เสื้อขาว คาดรัดประคด
สายในมโหระทึก กลองชนะ กางเกงแดงเสื้อแดง หมวกกลีบลำดวนแดง
กรมที่ ๑๕
สายนอกตำรวจถือหอก นุ่งผ้าพื้น เสื้อขาว คาดรัดประคน
สายในแตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ เครื่องสูง และพระแสงหว่าง เครื่องพวกแตรสังข์ใส่เสื้อแดง กางเกงแดง หมวกถุง พวกเชิญเครื่อง นุ่งกางเกงริ้ว สวมลอมพอกแดง
กรมที่ ๑๖
สายนอกแถวนอก
นายเวร จ่า ปลัดกรม เจ้ากรมตำรวจหน้า
แถวใน
หุ้มแพร จ่า นายเวร หัวหมื่น มหาดเล็กภายใน พระกรรม์ภิรมย์ ธงชัยราชกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ พราหมณ์
กรมที่ ๑๗
พระราชยานพุดตานทองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องพระภูษาเขียนทองฉลองพระองค์เยียรบับ สายรัดพระองค์ประดับเพชร ทรงพระมหาสังวาลนพรัตน์และพระธำมรงค์เพชร เหน็บพระแสดงตรี ฉลองพระองค์ครุยกรองทองชั้นนอก ทรงพระมหาชฎากลับ กำนัลเชิญพระกลด บังสูรย์ พัดโบก พระทวย ทรงโปรยเงินสองข้าง
พระยานมาศมีกรมวัง คู่เคียง อินทรพรหม
กรมที่ ๑๘
สายนอกเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวรตำรวจหลัง คือ กรมพลพัน กรมทหารในกรมรักษาพระองค์ กรมทนายเลือก สวมสนับเพลา นุ่งผ้าสมปักลาย เสื้ออัตลัดเข้มขาบ สวมเสื้อครุย สะพายกระบี่ตามยศ โพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง กรมรักษาพระองค์ ถือปืนทองปราย
สายในมหาดเล็กเชิญเครื่อง ชาวพระคลังมหาสมบัติเชิญพาน เงินตรา ภูษามาลาเชิญพานพระภูษา มหาดเล็กเชิญพระแสง เครื่องสูงหลัง มโหระทึก กำนัลเชิญพระแสง พระราชยานที่นั่งรอง พระวอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ๒ พระองค์ทรงด้วยกัน ม้าพระที่นั่งผูกเครื่องกุดั่น ๒ ม้า รถพระที่นั่ง ๔ หลัง มหาดเล็กกรมวังที่เชิญเครื่องและตามเสด็จในกระบวนไม่สวมเสื้อครุยหรือขัดดาบ
เสนากองหลัง
กรมที่ ๑๙
สายนอกรักษาพระองค์ ถือปืน
สายในขุนหมื่น ๔ คน ถือธงยันต์นำกระบวน เกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ถือปืนหลังม้า
กรมที่ ๒๐
สายนอกรักษาพระองค์ ถือปืน
สายใน
ขุนหมื่น ๔ คน ถือธงยันต์
กระบวนกรมทวนทองถือทวน
กรมที่ ๒๑
สายนอกรักษาพระองค์ ถือปืน
สายในกระบวนกรมทหารใน ถือง้าว
กรมที่ ๒๒
สายนอกในริ้วไม่มี
สายในกระบวนกรมอาสารอง ถือตรี (สามง่าม)
กรมที่ ๒๓
สายนอกในริ้วไม่มี
สายในกระบวนกรมเรือกัน ถือตะบองทอง
กรมที่ ๒๔
พระยาศรีสิงหเทพ ปลัดบัญชีมหาไทย คู่กับพระนรินทรราชเสนี ปลัดบัญชีกลาโหม
กรมที่ ๒๕
กรมทหารปืนใหญ่ (ญวน) ลากปืนใหญ่ ๔ กระบอก
กรมที่ ๒๖
เจ้านายแต่งพระองค์อย่างเทศ ทรงม้าตามเสด็จ ๑๐ คู่๑
๑ ดูรายละเอียดในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ อ้างแล้ว หน้า ๑๘๖-๑๘๗

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธี
อุปราชาภิเษกพระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราช
โอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ
เจ้าจอมมารดาเอม เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระราชพิธีอุปราชาภิเษก
หลังจากที่เสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกพระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาเอม เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยเตรียมประกอบการพระราชพิธีระหว่างในวันเดือนอ้าย ขึ้น ๘-๙-๑๐ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยได้นิมนต์พระราชาคณะมาเจริญพระพุทธมนต์ ๔๕ รูป ที่พระที่นั่งวสันตพิมาณ ๕ รูป รวม ๕๐ รูป
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระราชยานเป็นกระบวนแห่จากพลับพลาริมโรงละครใหญ่หลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามออกประตูวิเศษชัยศรีตรงไปเลี้ยวขวาประตูมหาโภคราช พระราชวังบวรสถานมงคลประทับเกยหน้าพระที่นั่งมังคลาภิเษก ทรงเปลื้องเครื่อง เสด็จทรงจุดเทียนนมัสการในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยทรงศีล จุดเทียนชัยแล้วเสด็จขึ้นทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้วแห่กลับ ประทับพลับพลาทั้ง ๓ วัน พระสงฆ์สวดภาณวารทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งการนี้นำมาจากครั้งพระราชพิธีบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ทรงพระราชยานไปประทับที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเมื่อได้พระฤกษ์ เสด็จเข้าที่สรงพระมูรธาภิเษก พระบรมวงศานุวงศ์ และอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ถวายน้ำพระพุทธมนต์ ชีพ่อพราหมณ์ถวายน้ำกลศ น้ำสังข์ เมื่อสรงเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระสุพรรณบัฏ พระแสงอัษฎาวุธและเครื่องราชูปโภค เสร็จแล้วเสด็จออกพระที่นั่งคชกรรมประเวศโปรดให้ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ และเวลาบ่าย ๓ โมง ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง และบายศรีเงิน เวียนเทียนสมโภชเฉลิมพระราชมณเฑียร


การเตรียมสถานที่
ปลูกพลับพลายกที่ประทับแรมในพระบรมมหาราชวังที่ริมโรงละคร ตั้งเกยแห่ที่พลับพลา จากประตูวิเศษชัยศรีจนถึงในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลได้ปักฉัตรเบญจรงค์ ตั้งราชวัติสองข้างทาง ผูกต้นกล้วย ต้นอ้อย และฉัตรกระดาษเป็นระยะๆ
ในพระราชวังบวรฯ ตั้งพระแท่นมณฑล และที่พระสงฆ์สวดมนต์ทั้งสวดภาณวารในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ส่วนทางด้านเหนือของพระที่นั่งตั้งพระแท่นสรง โรงพิธีพราหมณ์ปลูกข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ การเฉลิมพระราชมณเฑียรประกอบพิธีที่พระที่นั่งวสันตพิมาน มีพระสงฆ์สวดมนต์ในที่พระบรรทม ๕ รูป สวดที่พระที่นั่ง
อิศราวินิจฉัย ๓๐ รูป


การพระราชพิธีอุปราชาภิเษก
วันแรกของพระราชพิธีคือ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ พราหมณ์เข้าพิธี
วันที่สองคือ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ เช้าแห่พระสุพรรณบัฏจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปตั้งในพระแท่นมณฑล
ตอนบ่าย กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงยานมาศจากพระราชวังหลวงเข้ากระบวนแห่ไปพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อทรงฟังสวดปริตร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยโดยกระบวนราบแต่ไม่ได้แห่เป็นพยุหยาตรา ๔ สายอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพระราชวังบวรฯ เสด็จประทับที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศก่อน กระบวนแห่ของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (เมื่อยังทรงเป็นกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ) ซึ่งรอเสด็จอยู่ตึกริมประตูมหาโภคราช ได้เคลื่อนผ่านพระที่นั่งคชกรรมประเวศ ถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วไปประทับเกยพระที่นั่งมังคลาภิเษก ทรงเปลื้องเครื่อง๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ส่วนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงเปลื้องเครื่องแล้วได้เสด็จตามเข้าไป ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีล แล้วไปประทับสดับพระปริตรที่พระที่นั่งวสันตพิมาน
เมื่อพระสงฆ์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยสวดมนต์จบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญก็เสด็จเข้ากระบวนแห่กลับพลับพลาที่ข้างโรงปืนและเวลาเช้ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญได้เสด็จไปทรงประเคนเลี้ยงพระ งานเหมือนกันทั้ง ๓ วัน
ในวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระฤกษ์อุปราชาภิเษก เวลาเช้าเมื่อพระสงฆ์ดับเทียนชัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อได้พระฤกษ์เวลา ๗ นาฬิกา กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จสู่ที่สรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำอภิเษก ต่อจากนั้นบรรดาเจ้านาย คือ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรี
สุริยวงศ์ เจ้าพระยาภูธราภัย และเจ้าจอมมารดาเอมพระชนนีถวายน้ำ
เมื่อสรงและทรงเครื่องแล้ว เสด็จมาสู่ที่เฝ้าในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์อ่านประกาศ๒ เสร็จแล้วพระสงฆ์สวดชัยมงคลปริตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหาสังข์ ทรงเจิม และพระราชทานพระสุพรรณบัฏกับเครื่องสำหรับพระเกียรติยศคือ พระอนุราชมงกุฎ พระมาลาเส้าสูง พระแสงดาบฝักทอง พระแสงดาบฝักลงรักแดง พระแสงดาบฝักถมตะทอง ทองเหรียญ ๑ ถุง เงินเหรียญ ๑ ถุง กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงประเคนเลี้ยงพระต่อ เจ้าพนักงานโปรยทานต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น แล้วเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นอันเสร็จพิธีอุปราชาภิเษก
๑ เมื่อประทับในกระบวนแห่ทรงสนับเพลาผ้าเยียรบับ ฉลองพระองค์จีบเอวและฉลองพระองค์ครุยทรงพระมาลาเพชร เมื่อเปลื้องเครื่องทรงแล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องเยียรบับขาว
๒ ดูรายละเอียดในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ อ้างแล้ว, หน้า ๒๐๒-๒๐๖
