

บทนำ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปีแรก ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างย่อ เมื่อวันจันทร์เดือนแปด บุรพาษาฒขึ้นหนึ่งค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ปี ตรงกับวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕
ในการพระราชพิธีครั้งแรกนี้ พระองค์ได้เสด็จจากพระราชวังเดิมขึ้นยังพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังใหม่ แล้วสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ประชุมขนานพระนาม๑ ถวายจารึกลงในพระสุพรรณบัฏ จากนั้นก็ทรงประดิษฐานพระราชวงศ์ ตั้งข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยวังหลัง ตั้งข้าราชการขุนนางในกรมพระราชวังบวร และตั้งตำแหน่งพระราชาคณะตามราชประเพณีที่กระทำมา
ต่อมาในจุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็ง สัปตศก หรือพ.ศ. ๒๓๒๘ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผนโบราณประเพณี โดยมีการเตรียมการพระราชพิธี ๓ วันก่อนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก
๑ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตร วรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรธาราธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอขนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศรโลกเชฎฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฎประเทศคตาม พุทธรางกูร บรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว

๒. รอบพระมหามณเฑียรและด้านหน้าพระที่นั่งอมรินทราภิเษก ประดับรายด้วยฉัตรเบญจรงค์เจ็ดชั้นเสาราชวัติประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกหมาก ดอกมะพร้าว

การเตรียมการจัดสถานที่๑
- ที่ชาลาด้านตะวันออกข้างพระที่นั่งอัมรินทราภิเษก ตั้งมณฑป๒ ที่ทรงพระกระยาสนาน
- รอบพระมหามณเฑียรและด้านหน้าพระที่นั่งอมรินทราภิเษก ประดับรายด้วยฉัตรเบญจรงค์เจ็ดชั้น เสาราชวัติประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกหมาก ดอกมะพร้าว
- พระที่นั่งอัมรินทราภิเษก ด้านทิศตะวันออกตั้งเตียงแว่นฟ้า มีเพดานระบายรอบ เป็นเตียงพระมณฑลสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ พระพุทธชัยวัฒน์ (พระชัย) พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ดวงพระชนมพรรษา พระสุพรรณบัฏ พระมหาสังวาลพราหมณ์ เครื่องพระพิชัยสงคราม เครื่องพระมนต์พิเศษ หีบพระธำมรงค์ พระเกราะนวม๓ พระภูษารัตกัมพล พระอุณาโลมทำแท่ง พัดวาลวิชนี ธารพระกร ฉลองพระบาท พระขรรค์ชัยศรี พระแสงดาบ เชลย พระแสงง้าว พระแสงจักร พระแสงตรีศูล พระแสงเกาทัณฑ์ พระแสงดาบเขน พระแสงทวน พระแสงหอกชัย พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระแสงของ้าวตีช้างล้ม พระชนักต้น พระแสงปืนคาบศิลาที่เคยทรง พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง พระเศวตฉัตร พระเสมาธิปัตย์ พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์๔ ธงชัยกระบี่ธุช ธงชัยครุฑพ่าห์ พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ พระสังข์ทอง พระสังข์เงิน พระเต้าเบญจครรภ พระเต้าทอง พระเต้านาก พระเต้าเงิน และพระเต้าสำริด
- ตั้งพระที่นั่งอัฐทิศ คือ ตั่งใหญ่ไม้มะเดื่อแปดเหลี่ยมกั้นเศวตฉัตรเจ็ดชั้นและตั่งน้อยประจำทิศด้วยไม้ฤาษีสุข๕ เพื่อตั้งน้ำกลศ น้ำสังข์ รูปเขียนเทวดาประจำทิศทั้งแปดองค์
- หน้าเตียงพระมณฑลตั้งเครื่องนมัสการ ส่วนด้านหลังเตียงพระมณฑลตั้งบาตรน้ำพระพุทธมนต์ ๕ บาตร บาตรทราย ๕ บาตร
- ทิศประจิม (ตะวันตก) ตั้งเตียงมีโครงเพดานดาดผ้าขาว สำหรับพระสงฆ์สวดภาณวารและมหาชัยสำหรับพระราชพิธี บนเตียงนี้ตั้งเครื่องทรงนมัสการกระบะมุกและเทียนชัย มีกระโจมหุ้มผ้าขาว
- ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐทำด้วยไม้มะเดื่อหรือไม้อุทุมพรหุ้มเงินองค์หนึ่ง บนพระที่นั่งลาดหญ้าคา โรยแป้งสาลีปูทับด้วยแผ่นทองคำ เขียนรูปราชสีห์ด้วยเส้นชาดหรคุณแล้วคลุมด้วยผ้าขาว กั้นพระเศวตฉัตรเจ็ดชั้น
- แต่งอาสนะปูลาดพรมเจียมที่พระแท่นบรรทมในพระมณเฑียร สำหรับเป็นที่พระสงฆ์ราชาคณะสมถะ ๕ รูป สวดพระปริตรพุทธมนต์ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร
- กรมโหรตั้งเครื่องบัตรพลี บูชาเทวดานพเคราะห์เพื่อเจริญพระชนมายุกาล แล้ววงด้ายสายสิญจน์โยงไปตลอดเตียงพระมณฑล พระชัย เครื่องศาสตราวุธ พระที่นั่งอัฐทิศ พระที่นั่งภัทรบิฐ ทั้งพระมณฑปพระกระยาสนาน ตลอดมาถึงท้องพระโรงด้านหน้า
- ตั้งโรงพิธีพราหมณ์๖ ที่หน้าพระที่นั่งอมรินทราภิเษก เพื่ออัญเชิญเทวรูปทั้ง ๗ องค์ออกตั้งประกอบพิธี คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระเทวกรรม พระพิฆเนศ พระอุมา และพระลักษมี พร้อมทั้งตั้งเครื่องเบญจครรภ นพวรรค หม้อกุมภ์ เตากุณฑ์โหมเพลิง และไตรทวารทำด้วยไม้ซีก ประดับด้วยไม้ไผ่อุณาเทวพรหมโองการทิศละ ๓ อัน ทั้งแปดทิศตั้งกลศ และสังข์
ในวันเตรียมการก่อนวันพระฤกษ์ ๓ วันนั้น ทุกวันเมื่อได้พระฤกษ์เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ พระสงฆ์ ๔๓ รูป ประชุมในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกแล้วประโคมดนตรีมโหรีพิณพาทย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกทรงนมัสการพระรัตนตรัย ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณจุดเทียนชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระไตรสรณคมน์และเบญจศีล เสร็จแล้วเสด็จขึ้นห้องพระบรรทม ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงพระมหามงคลซึ่งสอดด้วยด้ายสายสิญจน์สูตร ทรงสดับพระราชาคณะ คณะสงฆ์ ๕ รูปสวดพระพุทธมนต์จบแล้วประโคมดนตรีแตรสังข์
ตอนเช้าของทุกวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกทรงปฏิบัติ พระสงฆ์ทรงพระราชอุทิศสังฆทานวัตร พระสงฆ์รับภัตตาหารเสร็จแล้วถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เป็นเช่นนี้ทั้ง ๓ วัน
๑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย, องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๒๖ หน้า ๕๕-๖๓
๒ มณฑปมีลักษณะดังนี้ มีเสาบันทวยนาค ช่อห้อย ช่อตั้ง ใบโพธิ์ห้อย ยอดซุ้มหน้าผ้าโขมพัสตร์ มีท่อธารสัณฐานดังฝักประทุมทำด้วยเงิน ขังน้ำเบญจสุทธิคงคาไว้บนเพดานผ้าขาว มีนามว่า “สหัสสธารา” เพดานประดับด้วยดาวทองและพวงพู่ล้วนสุวรรณมาลาดอกจำปาทอง และพระสูตรพื้นผ้าโขมพัสตร์จำหลักลายดอกสุวรรณประจำทั้ง ๔ ด้าน
๓ บางครั้งแยกเป็นฉลองพระองค์เกราะ ฉลองพระองค์นวม
๔ พระเสมาธิปัตย์ พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์ เรียกรวมกันว่า พระกรรม์ภิรมย์ เป็นฉัตรแพรขาวลงยันต์เดินทอง
๕ สมัยรัชกาลอื่นเขียนเป็นไม้ไผ่สีสุก ซึ่งอาจจะเลือนไปจากชื่อเดิม คือ ฤาษีสุข ตามชื่อของพระฤษีศุขวัฒน์ ผู้ที่ถวายไม้ไผ่แก่ พระอิศวร (พระศิวะ)
๖ โรงพิธีพราหมณ์ประดับด้วยราชวัติฉัตรกระดาษ ๕ ชั้น มีต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกหมาก ดอกมะพร้าว ห้อยตามมุมราชวัติ


การประกอบพระราชพิธีในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก
ในวันพระฤกษ์ อันเป็นวันที่ ๔ เมื่อได้พระมหามงคลฤกษ์ หลวงโลกทีปและพระมหาราชครู กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสรงน้ำมูรธาภิเษก
- เจ้าพนักงานชาวพระภูษามาลา ถวายพระภูษาถอด
- พระยาราชโกศา เชิญพระชัย
- หลวงสิทธิชัย พระหมอเฒ่า เชิญพระพิฆเนศ๑
- พระมหาราชครู พระครูอัษฎาจารย์ โปรยข้าวตอก
- หลวงราชมุนี หลวงศิวาจารย์ เป่าพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏนำเสด็จ
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงมณฑปพระกระยาสนาน ก็เสด็จขึ้นประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์
- พระยาราชโกศา ถวายเครื่องกระยาสนาน
- หลวงราชวงศา ไขสหัสสธารา
- เมื่อทรงสหัสสธาราแล้ว
- หลวงสิทธิชัย พระหมอเฒ่า ถวายพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ
- พระมหาราชครูพิธี ถวายพระเต้าเบญจครรภ
- พระครูอัษฎาจารย์ ถวายพระสังข์ทอง
- พราหมณ์ ถวายพระสังข์เงิน
- ขุนรักษ์นารายณ์ ขุนราชธาดา เป่าพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ ๒ องค์
- ขุนหมื่น เป่าสังข์อุตราวัฏ ๖ องค์
ครั้นสรงเสร็จแล้ว พระยาราชโกศาถวายพระภูษาทรงผลัดลายเขียนทองทรงฉลองพระองค์ครุยทอง เสด็จมาประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ โดยทรงผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ (อุดร) เป็นปฐม
พราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ น้ำกลศ ทรงรับมาสรงพระพักตร์และเสวยหน่อยหนึ่ง แล้วผินพระพักตร์ไปทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) โดยทักขิณาวัฏ (เวียนขวา) ทรงรับน้ำพระพุทธมนต์น้ำสังข์แล้ว ๘ ทิศ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระที่นั่งภัทรบิฐ
พระมหาราชครูประคองพระองค์ขึ้นเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งปูลาดด้วยแผ่นทองเขียนรูปราชสีห์ จากนั้นพระมหาราชครูอ่านพระเวทสรรเสริญไกลาส แล้วทูลเกล้าฯ ถวายพระสุบรรณบัฏ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องราชูปโภคประกอบด้วยวิษณุเวท อิศวรมนต์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับแล้วให้พระยาราชโกศาฯ รับต่อพระหัตถ์แล้วส่งให้เจ้าพนักงาน ยกเว้นฉลองพระบาทซึ่งพระมหาราชครูรับแล้วสอดถวาย แล้วถวายพระพรชัย
จากนั้น พระมหาราชครูพิธีกราบบังคมทูลถวายราชสมบัติ
หลวงสิทธิชัยพระหมอเฒ่า กราบบังคมทูลถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรเก้าชั้น)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการพระบรมราชานุญาตให้สมณชีพราหมณ์ และประชาราษฎรหาสิ่งของในแผ่นดิน เช่น พืชพันธุ์ธัญญาหาร น้ำ ได้ตามปรารถนาแล้วทรงโปรยดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน และทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก โดยทรงอธิษฐานตามพระราชอัชฌาสัย พราหมณ์เป่าพระมหาสังข์ ประโคมดนตรีมโหระทึก สมเด็จพระสังฆราชดับเทียนชัย แล้วเสด็จฯ ถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชถวายอดิเรก พระสงฆ์ถวายสัพพพุทธาแล้วถวายพระพรลา
พระมหาราชครูพิธีพระหมอเฒ่าประพรมน้ำกลศ น้ำสังข์ รอบพระมหามณเฑียรข้างใน ข้างหน้า แล้วถวายพระพร
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกท้องพระโรงหน้า ประทับพระแท่นเศวตฉัตร พระราชวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน
เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายก กราบบังคมทูลถวายพระยาช้างพระที่นั่งต้น พระยาม้าพระที่นั่งต้น กับเมืองเอก โท ตรี จัตวา ทั้งไพร่พลฝ่ายพลเรือน
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม กราบบังคมทูลถวายพระมหาพิชัยราชรถ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือกระบวนใหญ่น้อยและเครื่องสรรพยุทธทั้งปวง เมืองเอก โท ตรี จัตวา ทั้งไพร่พลฝ่ายทหาร
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ กราบบังคมทูลถวายพระมหามณเฑียรปราสาทราชนิเวศน์มหาสถาน
พระราเชนทรยาน เครื่องสูงเฉลิมพระเกียรติยศ
พระยายมราช กราบบังคมทูลถวาย กรุงเทพมหานคร (เมืองหลวง)
พระยาโกษาธิบดี กราบบังคมทูลถวายเครื่องราชสมบัติทั้งสิบสองพระคลัง
พระยาพลเทพ กราบบังคมทูลถวายธัญญาหารแดนสถานและอาณาเขตทุกตำบล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการปฏิสันถารแก่เจ้าพระยา และพระยาให้ช่วยกันทำนุบำรุงสิ่งต่างๆ ไว้ให้ดี และให้ป้องกันรักษาแผ่นดิน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระราชอาณาเขตสืบไป แล้วเสด็จกลับขึ้นข้างในที่ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ
ท้าววรจันทร์ หัวหน้าข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในกราบบังคมทูลถวายพระสนมสิบสองพระกำนัล
เมื่อได้พระฤกษ์เจ้าพนักงานประโคมดนตรี แตรสังข์ พิณพาทย์ มโหรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่พระมหามณเฑียร ทรงโปรยดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน มีนางชำระพระบาท ๒ นาง มีนางเชิญเครื่องราชูปโภค และมีนางเชื้อพระวงศ์ ๖ นาง อุ้มสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายอันเป็นมงคล คือ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด ฟักเขียว ขันข้าวเปลือก ขันถั่วทอง และขันงา
เมื่อเสด็จถึงในที่ ทรงจุดเทียนนมัสการก่อนแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นที่บรรทม พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายในถวายดอกหมากทำด้วยทองคำหนัก ๕ ตำลึง ทรงรับแล้ววางไว้ข้างพระที่นั่ง
ท้าวทรงกันดาล ถวายกุญแจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเหนือพระแท่น โดยทักษิณปรัศว์เบื้องขวาเป็นพระฤกษ์ก่อน จากนั้นพระราชวงศ์ฝ่ายในผู้ทรงพระชนมายุถวายพระพรก่อน แล้วพระราชวงศานุวงศ์ท้าวนางข้างในถวายพระพรพร้อมกัน แล้วประโคมดุริยางค์ดนตรีสุดเสียงประโคมแล้วเสด็จขึ้น
เวลาบ่าย พระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนพร้อมกันเวียนพระเทียนเฉลิมพระมหามณเฑียรตามราชประเพณี
๑ สมัยกรุงศรีอยุธยา อัญเชิญเฉพาะพระชัย


พระราชพิธีอุปราชาภิเษก
เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วจะมีการประกอบพระราชพิธีอุปราชาภิเษก เพื่อแต่งตั้งพระราชวงศ์ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นตำแหน่งสูงสุดรองจากองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นจอมทัพ ซึ่งเรียกว่า ทัพหลวง ส่วนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราชนั้นเป็นแม่ทัพหน้าหรือจอมทัพของทัพหน้านั่นเอง
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการประกอบพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) เมื่อพ.ศ. ๒๓๔๙ โดยประกอบพระราชพิธีที่วังหลวงคล้ายที่เคยทำในสมัยอยุธยา คราวจัดพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ได้ประกอบพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) หลังจากที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์แล้ว

๒. ตั้งเกยด้านหลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์

การเตรียมสถานที่
- ตั้งพลับพลาประทับแรมให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรที่โรงหล่อท้ายพระราชวังในกำแพง
- ตั้งเกยด้านหลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์
- ตั้งพลับพลาเปลื้องเครื่องนอกกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
- ตั้งพระมณฑป สรงพระกระยาสนาน ที่ชาลาในกำแพงแก้วด้านตะวันออก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
- โรงพิธีพราหมณ์ ตั้งหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ


การเตรียมพระราชพิธี
พระสงฆ์พระราชาคณะฝ่ายคามวาสี ๓๒ รูป ฝ่ายอรัญวาสี ๒ รูป พระสงฆ์ชั้นเดิมเป็นพระองค์เจ้า ๑ รูป พระสงฆ์ฐานานุกรม ๑๒ รูป อาจารย์ในกรุง ๓ รูป อาจารย์นอกกรุง ๓ รูป รวม ๕๓ รูป ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ เป็นเวลา ๓ วันจนถึงวันพระฤกษ์
กระบวนแห่ประกอบพระราชพิธี มีทั้งข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน มหาดเล็กในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล และตำรวจ เข้ากระบวนแห่ตามกระบวนบรรดาศักดิ์เป็นคู่ๆ ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง โดยแห่เป็น ๔ สาย แล้วถึงกระบวนข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งสองพระราชวัง ตามเสด็จท้ายกระบวนหลังอีก ๑๓๔ คู่ รวม ๒๖๘ คน
การแห่เริ่มตั้งแต่เกยที่ประทับ เข้าประตูสุวรรณบริบาลหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วนมาตามแนวกำแพงแก้วเสด็จขึ้นพลับพลา เพื่อทรงเปลื้องเครื่องทรงเป็นพระภูษาลายพื้นขาวโจงหางหงส์ รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร ทรงพระธำมรงค์เพชรครบนิ้วทั้งสองพระหัตถ์ ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทอง แล้วทรงพระเสลี่ยงน้อยไปเสด็จขึ้นมุขหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จอยู่ข้างในพระฉาก เพื่อทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนจบทั้ง ๓ วัน แล้วเสด็จลงที่พลับพลาเปลื้องเครื่องทรงผลัดเครื่องแต่งพระองค์พระมาลาเส้าสูง แล้วตั้งกระบวนแห่เสด็จกลับทางประตูพิมานไชยศรี
เวลาเช้าของวันที่ ๑ และวันที่ ๒ นั้น ทรงพระเสลี่ยงน้อยมาปฏิบัติ พระสงฆ์ฉันแล้ว เสด็จทางประตูพิมานไชยศรีกับพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง ไปประทับที่ทิมสงฆ์ ดำรัสให้ทิ้งทานที่ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ด้าน ที่ตั้งอยู่ระหว่างโรงละครนอกพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๓ วัน ทานที่ทิ้งเป็นเฟื้องทอง เฟื้องเงิน ใส่ไว้ในผลมะกรูด ผลมะนาว รวมเป็นทอง ๑๘ ตำลึง เงิน ๒๔ ชั่ง


วันพระฤกษ์อุปราชาภิเษก
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงเครื่องต้นทรงพระชฎามหากฐินน้อย เสด็จโดยกระบวนแห่เข้าประตูสุวรรณบริบาล ประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องแล้วทรงเปลี่ยนเป็นพระภูษาลายพื้นขาว ฉลองพระองค์ครุย เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยมุขหลัง ถวายนมัสการพระศรีรัตนตรัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมา ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงศีล และทรงพระราชอุทิศถวายสังฆภัตตานิสงส์ ทรงประเคนสำรับ พระสงฆ์ราชาคณะรับพระราชทานฉัน
เมื่อได้เวลามหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จลงที่สรงสนาน
พระราชโกษา ถวายพระภูษาขาวเครื่องถอดแล้วเสด็จประทับเหนือตั่งอุทุมพรตั้งบนถาดทองแดง บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา (ตะวันออก)
หลวงพิพิธภูษา ถวายเครื่องมูรธาภิเษกสรงสนานแล้ว พระราชาคณะคามวาสี ๙ รูป พระราชาคณะอรัญวาสี ๒ รูป พระอาจารย์วัดบางช้าง ๓ รูป รวม ๑๔ รูป ถวายน้ำพระพุทธมนต์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพระเต้าเบญจครรภ พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ พระสังข์ทองคำ พระสังข์เงิน ทรงรดพระราชทาน เสร็จแล้วพระครูพราหมณ์ผู้ใหญ่ถวายน้ำสังข์ น้ำกลศต่อพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ แล้วถวายใบเวฬุ (มะตูม) ทรงรับ จากนั้นพราหมณ์ผู้ใหญ่ร่ายพระเวทอิศวรมนต์ พระพิษณุมนต์ พระพรหมมนต์ ถวายชัยมงคล
จากนั้นทรงผลัดพระภูษาขาวเป็นทรงพระภูษาลายเทศพื้นแดงเขียนทอง ทรงสะพักกรองขาว เสด็จขึ้นพลับพลาเปลื้องเครื่อง เมื่อได้พระฤกษ์ก็เสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อย จมื่นมหาดเล็กเชิญธูปเทียนดอกไม้ตามเสด็จไปพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และประทับอยู่ในท้องพระโรง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับข้างในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และมีพระราชโองการดำรัสใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มาเชิญเสด็จเข้าไปประทับในพระที่นั่งข้างใน พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์ ทรงเชิญพานดอกไม้ ธูปเทียน ตามเสด็จเข้าไป จึงทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้านายองค์หนึ่งออกมาเชิญพานพระสุพรรณบัฏ ที่ขุนมหาสิทธิโวหารอาลักษณ์เชิญมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อได้พระศิริราชาฤกษ์ หลวงโลกทีป ขุนโชติพรหมา และขุนเทพากรสั่งให้ประโคม แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมหามงคล และพระราชทานพระแสงดาบญี่ปุ่นฝักมะขามสีแดง แล้วทรงดำรัสฝากพระพุทธศาสนา และพระราชทานพระราโชวาทให้อยู่ในสัจธรรม จบพระราชพิธีแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา พลพาย ๓๓ คน ซึ่งมีเรือดั้งคู่ชัก ๓ คู่ เรือนำและเรือ กลองแขก เรือตำรวจ เรือข้าราชการ ตามเสด็จ ๒๓ ลำ เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม มิได้ทรงโปรดให้ประทับที่พระราชวังบวร


การสมโภชพระนคร
เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน
- นิมนต์พระสงฆ์ทุกพระอารามทั้งในกรุงและนอกกรุง ขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินรอบพระนครทุกใบเสมา ใบละรูป
- พระราชทานเงินขอแรงให้ข้าราชการทำข้าวกระทงเลื้ยงพระสงฆ์
- ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร
- ตั้งต้นกัลปพฤกษ์ตามวงกำแพงพระนครทิ้งทานต้นละ ๓ วัน
- มีการมหรสพต่างๆ มีละครผู้หญิงโรงใหญ่
- พระราชทานนามพระนครใหม่ ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
