การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงศรีอยุธยา


จากคำให้การชาวกรุงเก่า จะเห็นว่าเป็นการเขียนตามคำบอกเล่าที่ย่อสรุปมาก ความว่า “...ต้นมะเดื่ออยู่ทางทิศตะวันออกของพระมหานครธานีล้มได้หันยอดไปทางทิศปรางค์ปราสาทในพระราชวังเป็นมงคลนิมิตอันประเสริฐ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อมาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น พระองค์ย่อมประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ พัดวาลวิชนี ธารพระกร ฉลองพระบาท ขณะนั้นพราหมณ์ปุโรหิตก็ถวายพระกรและเป่าสังข์ทักขิณาวัฎ เจ้าพนักงานตีกลองอินทรเภรี และชาวประโคมก็ประโคมเครื่องเบญจดุริยางค์ขึ้นพร้อมกัน แล้วพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับราชบัลลังก์ อันปูลาดด้วยหนังพระยาราชสีห์ เสนาพฤฒามาตย์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกันถวายพระนามอันจารึกในพระสุพรรณบัฎ มีกรอบประดับด้วยแก้วมณี และมีพานทองรองรับ”